สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

       ลมบก ลมทะเล เป็นลมประจำถิ่น เกิดบริเวณชายฝั่ง มีหลักการเกิดเหมือนกัน คือ เกิดจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นดินบริเวณชายฝั่งและอุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นทะเล ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันคือ ช่วงเวลาที่เกิดและทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศระหว่างพื้นดินบริเวณชายฝั่งและ พื้นทะเล โดยลมบกเกิดในช่วงเวลากลางคืนเนื่องจากพื้นดินบริเวณชายฝั่งเย็นเร็ว ในขณะที่พื้นทะเลยังคงมีอุณหภูมิสูงอยู่ น้ำทะเลจึงคายความร้อนไปสู่อากาศ ทำให้อากาศเหนือพื้นทะเลมีอุณหภูมิสูงและเคลื่อนที่สูงขึ้น อากาศเหนือพื้นดินซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าจึงเคลื่อนเข้ามาแทนที่ เกิดลมบกพัดจากชายฝั่งออกสู่ทะเล ส่วนลมทะเลเกิดในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากพื้นดินบริเวณชายฝั่งและพื้นทะเลเมื่อได้รับความร้อนจาก  ดวงอาทิตย์ พื้นดินบริเวณชายฝั่งจะร้อนเร็วกว่าพื้นทะเลและคายความร้อนไปสู่อากาศได้เร็วกว่าอุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นดินบริเวณชายฝั่งจึงสูงและเคลื่อนที่สูงขึ้น อากาศเหนือพื้นทะเลซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า จึงเคลื่อนเข้ามาแทนที่ เกิดลมทะเลพัดจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่ง การเกิดลมบก ลมทะเล มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ตัวชี้วัด

ว 3.2 ป.6/4  เปรียบเทียบการเกิดลมบก ลมทะเล และมรสุม รวมทั้งอธิบายผลที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมจากแบบจำลอง

จุดประสงค์

รวบรวมข้อมูลและอธิบายผลของลมบก ลมทะเล ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

การวัดผลและประเมินผล

1. การตอบคำถามในใบงาน

2. สังเกตทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการทำกิจกรรม

3. สังเกตพฤติกรรมด้านคุณธรรมขณะทำกิจกรรม

ปีการศึกษา 2565 / 2
ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มสาระ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หน่วย หน่วยที่ 4 ปรากฏการณ์ของโลกและภัยธรรมชาติ
ชั่วโมง ปรากฏการณ์ของโลกและภัยธรรมชาติ
เรื่อง การเกิดลมบก ลมทะเล (3) 8 พ.ย. 65 (มีใบงาน ใบความรู้ และแบบฝึกหัด)