สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

- แผ่นดินทรุดเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดินเนื่องจากการสูบน้ำบาดาลจากชั้นหินอุ้มน้ำในปริมาณมากจนเกินกว่าอัตราที่น้ำบาดาลบริเวณข้างเคียงจะไหลเข้ามาทดแทนน้ำในช่องว่างของหินอุ้มน้ำที่ถูกสูบน้ำขึ้นไปใช้ได้ทัน ส่งผลทำให้ระดับน้ำใต้ดินบริเวณที่สูบน้ำและบริเวณข้างเคียงลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุให้ชั้นดิน ชั้นหิน หรือชั้นตะกอนด้านบนทรุดตัวตามลงมา นอกจากนี้ยังเกิดจากการอัดตัวของตะกอนที่รองรับสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของตะกอนและชนิดของหินในบริเวณที่เกิดการทรุดตัว

- ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินทรุดคือการลดลงอย่างรวดเร็วของน้ำใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ และการอัดตัวของตะกอนที่รองรับสิ่งปลูกสร้าง

- แผ่นดินทรุดอาจทำให้สิ่งปลูกสร้างในบริเวณที่ทรุดตัวเกิด การแตกร้าว ทรุดตัว หรือพังทลาย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัยหรือสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้น

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ตัวชี้วัด

ว 6.1 ม.2/9

จุดประสงค์การเรียนรู้

1. สร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายกระบวนการเกิดแผ่นดินทรุด และผลกระทบจากแผ่นดินทรุด

การวัดผลและประเมินผล

 วิธีการประเมิณ

ด้านความรู้

ประเมินจาก

การบันทึกผลการทำกิจกรรม การตอบคำถามท้ายกิจกรรมเกี่ยวกับกระบวนการเกิดแผ่นดินทรุด และผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินทรุดที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในใบงานที่ ๑

ด้านทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ประเมิน

1. การบรรยายรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแบบจำลองการเกิดแผ่นดินทรุด โดยไม่เพิ่มเติมความคิดเห็น

2. ลงความเห็นจากข้อมูลได้ด้วยตนเองหรือจากการชี้แนะของครูได้ว่า แผ่นดินทรุดเกิดจากการทรุดตัวของชั้นดิน ชั้นหินหรือชั้นตะกอน เนื่องมาจากการสูบน้ำบาดาลจากชั้นหินอุ้มน้ำขึ้นมาใช้เป็นปริมาณมาก นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากการอัดตัวของตะกอนที่รอบรับสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ด้านบน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของตะกอน รวมถึงชนิดของหินในบริเวณดังกล่าว แผ่นดินทรุดอาจทำให้สิ่งปลูกสร้างทรุดตัวหรือพังทลายลงได้

3. การอธิบายกระบวนการเกิดแผ่นดินทรุด และผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินทรุดที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ถูกต้องด้วยตนเอง หรือจากการชี้แนะของครู

ด้านจิตวิทยาศาสตร์

ประเมินจาก

1. การสังเกตพฤติกรรมที่แสดงถึงความรอบคอบ เกี่ยวกับความละเอียดถี่ถ้วนในการทำกิจกรรม การวางแผนการทำกิจกรรม การตรวจสอบความเรียบร้อยของอุปกรณ์หรือเครื่องมือก่อนและหลังทำกิจกรรม การทำงานอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

2. การนำหลักฐานหรือข้อมูลที่ได้จากการสังเกต จากการรวบรวมข้อมูล จากการอภิปรายและจากการสร้างแบบจำลอง มาใช้สนับการอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการเกิดแผ่นดินทรุด และผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินทรุดที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

3. การเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากการทำกิจกรรม การนำเสนอข้อมูลหรือผลการทำกิจกรรม ตามผลที่ได้จริงหรือตามที่ปรากฏจริง ถึงแม้จะแตกต่างจากผู้อื่น

4. การแปลความหมายข้อมูลโดยใช้หลักฐานหรือข้อมูลต่าง ๆ จากการทำกิจกรรม ตามผลการทำกิจกรรมที่ได้จริงหรือตามที่ปรากฏจริง อย่างมีเหตุและผล

5. การสังเกตพฤติกรรมที่แสดงถึงความตั้งใจในการทำกิจกรรม การทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามกำหนดและตรงต่อเวลา อดทนแม้การทำกิจกรรมจะมีปัญหาและใช้เวลา

ด้านสมรรถนะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน

ประเมินจาก

1. การจัดการตนเอง โดยทำกิจกรรมและนำเสนอผลการทำกิจกรรมได้เสร็จทันเวลาที่กำหนด

2. การสื่อสาร โดยใช้ภาพ ข้อความหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่ออธิบายกระบวนการเกิดแผ่นดินทรุด  และผล กระทบที่เกิดจากแผ่นดินทรุดที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ให้เข้าใจได้ง่ายและถูกต้อง

3. การรวมพลังทำงานเป็นทีม การให้ข้อเสนอแนะและการโต้แย้งโดยใช้เหตุและผล และการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำกิจกรรม การช่วยเหลือเพื่อนในขณะทำกิจกรรม และการปฏิบัติตามคำชี้แนะในขณะทำกิจกรรม และการใช้การตัดสินใจเป็นทีมแบบฉันทามติ

4. การอธิบายปรากฏการณ์ในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยตอบคำถามในใบงาน และการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเกิดแผ่นดินทรุด และผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินทรุดที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ให้เข้าใจได้ง่ายและถูกต้อง      

เครื่องมือ

ใบงาน เรื่อง แผ่นดินทรุด

ใบความรู้ เรื่อง แผ่นดินทรุด

ปีการศึกษา 2567 / 2
ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2
กลุ่มสาระ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หน่วย หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 โลกและการเปลี่ยนแปลง
ชั่วโมง โลกและการเปลี่ยนแปลง
เรื่อง แผ่นดินทรุด (2) 23 ธ.ค. 67 (มีใบงาน ใบความรู้)