สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

คลื่นเป็นปรากฏการณ์ส่งผ่านพลังงานจากบริเวณหนึ่งไปบริเวณอื่นซึ่งแบ่งประเภทตามการอาศัยและไม่อาศัยตัวกลางเป็นคลื่นกลและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นกลเป็นคลื่นที่ส่งผ่านพลังงานกลโดยที่อนุภาคตัวกลางไม่เคลื่อนที่ไปด้วยแต่จะสั่นอยู่กับที่ ส่วนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นคลื่นที่ส่งผ่านพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่อาศัยตัวกลางแต่จะอาศัยการเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า และเมื่อแบ่งประเภทตามทิศทางการสั่นของตัวกลางกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น เป็น คลื่นตามขวาง และคลื่นตามยาว โดยคลื่นตามขวางเป็นคลื่นที่มีทิศทางการสั่นของตัวกลางในทิศทางที่ตั้งฉากกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น ส่วนคลื่นตามยาวเป็นคลื่นที่มีทิศทางการสั่นของตัวกลางในทิศทางเดียวกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ด้านความรู้

- อธิบายการเกิดคลื่น

- ระบุประเภทของคลื่นที่แบ่งตามเกณฑ์ต่าง ๆ

ด้านทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

          - การสังเกต สังเกตอย่างละเอียดทั้งการลงมือทำและผล เกี่ยวกับพลังงานทำให้เกิดคลื่น การส่งผ่านพลังงาน การเคลื่อนที่ของอนุภาคตัวกลาง ลักษณะและแนวการเคลื่อนที่ของคลื่น

          - การแปลความหมายข้อมูลและลงข้อสรุป โดยแปลความหมายข้อมูลจากกิจกรรมและการอภิปราย เพื่อลงข้อสรุปได้เกี่ยวกับการเกิดและประเภทของคลื่น

          - การสร้างแบบจำลอง ด้วยสื่ออุปกรณ์จำลองการเกิดคลื่น ใช้แผนภาพแสดงลักษณะคลื่น ความสัมพันธ์ของการสั่นและการเคลื่อนที่ของตัวกลางกับการเคลื่อนที่ของคลื่น เพื่ออธิบายการเกิดคลื่น และจำแนกประเภทคลื่นเป็นคลื่นตามขวางและคลื่นตามยาวได้  

ด้านจิตวิทยาศาสตร์

          - วัตถุวิสัย โดยแปลความหมายข้อมูลให้สอดคล้องกับหลักฐานอย่างเที่ยงตรง

          - ความอยากรู้อยากเห็น โดยกระตือรือร้นในการสืบเสาะหาความรู้ตามที่สงสัยในการทำกิจกรรม

          - ความมุ่งมั่นอดทน โดยตั้งใจและรับผิดชอบในการทำกิจกรรมเพื่อให้ได้หลักฐานนำไปสู่การอธิบายหรือลงข้อสรุป

ด้านสมรรถนะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน

           - การจัดการตนเอง โดยระบุเป้าหมายการทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ ทำงานตามบทบาทหน้าที่ และบริหารจัดการงานและเวลา

          - การรวมพลังทำงานเป็นทีม โดยมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานเป็นทีม มีการสะท้อนการทำงานและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการทำงาน

          - การแปลความหมายข้อมูลและการใช้ประจักษ์พยานในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูลจากผลการทำกิจกรรมหรือการสืบค้นและลงข้อสรุปเกี่ยวกับการเกิดคลื่น ประเภทของคลื่น และปริมาณที่บรรยายคลื่น คลื่นกลหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การวัดผลและประเมินผล

วิธีการ

          1. การนำเสนอ หรือแสดงความเห็นสื่อสารเกี่ยวกับการเกิดคลื่นและอธิบายลักษณะ และประเภทของคลื่นกลได้ถูกต้อง
          2. การตอบคำถาม ในใบงานอธิบายเกี่ยวกับการเกิดคลื่น ลักษณะและประเภทของคลื่นกลได้ถูกต้อง
          3. การบันทึกผลของกิจกรรมว่าได้สังเกตอย่างละเอียด และไม่ลงความคิดเห็นของผู้สังเกตลงไป
          4. การตอบคำถามในใบงาน ว่าได้แปลความหมายข้อมูล และสร้างข้อสรุปจากความสัมพันธ์ของข้อมูล

          5. การสังเกตพฤติกรรมการสร้างคลื่นจำลอง และการบันทึกผลในใบงาน เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของการเกิดคลื่นและลักษณะการเคลื่อนที่ของคลื่นกลให้เข้าใจได้ถูกต้อง 

          6. การบันทึกผลและการตอบคำถามในใบงานที่สะท้อนความสอดคล้องของหลักฐานและการแปลความหมายที่เที่ยงตรง

          7. การสังเกตพฤติกรรมที่แสดงความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นในการทำงานและผลของทำกิจกรรม

          8. การสังเกตพฤติกรรมที่แสดงความมุ่งมั่นอดทนเพื่อทำงานระหว่างกิจกรรม และทำให้งานประสบความสำเร็จ

          9. การสังเกตพฤติกรรมระหว่างการทำงาน และการบันทึกผลการทำกิจกรรม ที่สะท้อนความเข้าใจเป้าหมายของงานรับผิดชอบภาระงาน บทบาทและหน้าที่ของตนเอง และมีวินัยในการทำงาน

          10. การสังเกตพฤติกรรมระหว่างการทำงานและการบันทึกผลกิจกรรม ที่สะท้อนการมีส่วนร่วมในกระบวนการจนบรรลุเป้าหมาย รวมถีงมีส่วนร่วมในการประเมินและปรับปรุงการทำงาน ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างภายในกลุ่ม

ปีการศึกษา 2566 / 1
ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มสาระ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หน่วย หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง แสง
ชั่วโมง แสง
เรื่อง คลื่นกลและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (1) 30 มิ.ย. 66 (มีใบงาน ใบความรู้)