สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

 ช่วงอุณหภูมิที่ของแข็งเริ่มหลอมเหลวจนกระทั่งหลอมเหลวหมด คือ ช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวและเมื่อนำอุณหภูมิช่วงที่หลอมเหลวมาหาค่าเฉลี่ย จะทำให้ได้จุดหลอมเหลว สารแต่ละชนิดมีจุดหลอมเหลวแตกต่างกัน สารบริสุทธิ์มีจุดหลอมเหลวคงที่และมีช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวแคบกว่าสารผสม ส่วนสารผสมมีจุดหลอมเหลวไม่คงที่ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของสารผสมนั้นและมีช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวค่อนข้างกว้าง

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ด้านความรู้        

อธิบายและเปรียบเทียบช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวและจุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสม

ด้านทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์       

การตีความหมายข้อมูลและลงข้อสรุป โดยแปลความหมายข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิที่สารเริ่มหลอมเหลวและอุณหภูมิที่สารหลอมเหลวหมด เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวและจุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสม         

ด้านสมรรถนะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน          

การแปลความหมายข้อมูลและการใช้ประจักษ์พยานในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยวิเคราะห์ แปลความหมายข้อมูล และลงข้อสรุปเกี่ยวกับช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวและจุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสม

การวัดผลและประเมินผล

8.1 วิธีการ          

ด้านความรู้         

จากการตอบคำถามขณะอภิปรายและการตอบคำถามในใบงาน เพื่ออธิบายและเปรียบเทียบช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวและจุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสม          

ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์          

การตีความหมายข้อมูลและลงข้อสรุปจากการอภิปรายและการตอบคำถามในใบงาน โดยนำข้อมูลที่ได้จากการคำนวณผลต่างของอุณหภูมิที่เริ่มหลอมเหลวและอุณหภูมิที่หลอมเหลวหมด รวมทั้งจุดหลอมเหลวของแนฟทาลีนและกรดเบนโซอิกในแนฟทาลีนที่มีอัตราส่วนผสมต่างกันมาลงข้อสรุปว่า สารบริสุทธิ์มีช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวแคบ และมีจุดหลอมเหลวคงที่ สารผสมมีช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลวกว้าง และมีจุดหลอมเหลวไม่คงที่เปลี่ยนไปตามอัตราส่วนผสม         

ด้านสมรรถนะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน         

การแปลความหมายข้อมูลและการใช้ประจักษ์พยานในเชิงวิทยาศาสตร์จากการตอบคำถามในใบงาน ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูลในตารางและลงข้อสรุปเกี่ยวกับช่วงอุณหภูมิที่หลอมเหลว และจุดหลอมเหลวของแนฟทาลีนและกรดเบนโซอิกในแนฟทาลีนที่มีอัตราส่วนผสมต่างกัน

8.2 เครื่องมือ         

1. ใบกิจกรรมที่ 1 จุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสมเป็นอย่างไร         

2. ใบงานที่ 1 จุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสมเป็นอย่างไร         

3. ใบความรู้ที่ 1 การหาจุดหลอมเหลวของสาร

ปีการศึกษา 2566 / 1
ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1
กลุ่มสาระ วิทยาศาสตร์
หน่วย หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 เรื่อง สารในชีวิตประจำวัน
ชั่วโมง สารในชีวิตประจำวัน
เรื่อง จุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสม (2) 6 ก.ย. 66 (มีใบงาน)