สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

1. การนับและบอกจำนวน การอ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิก ตัวเลขไทย และตัวหนังสือแสดงจำนวนนับไม่เกิน 1,000

      1.1 เราสามารถบอกจำนวนของสิ่งต่างๆ ได้โดยการนับ ซึ่งอาจใช้การนับทีละ 1  ทีละ 2  ทีละ 5 ทีละ 10 หรือทีละ 100

       1.2 จำนวนนับที่มากกว่า 100 ไม่เกิน 1,000 เป็นจำนวนที่มีสามหลัก ได้แก่ 101 ถึง 999 โดยที่

                101 คือ 1 ร้อย กับ 1 หน่วย            

   510 คือ 5 ร้อย กับ 1 สิบ           

                999 คือ 9 ร้อย กับ 9 สิบ กับ 9 หน่วย

       1.3  10 ร้อย คือ 1 พัน หรือ1,000 ซึ่งเป็นจำนวนที่มีสี่หลัก    

      1.4 จำนวนนับที่มากกว่า 100 ไม่เกิน 1,000 สามารถเขียนแสดงได้ด้วยตัวเลขฮินดูอารบิก ตัวเลขไทยและตัวหนังสือ

      1.5 การเขียนตัวเลขแสดงจำนวนที่มากกว่าสามหลัก นิยมเขียนเครื่องหมายจุลภาค (,) คั่น เพื่อให้สะดวกต่อการอ่าน เช่น  1,000  หรือ  ๑,๐๐๐   

2. หลักและค่าของเลขโดดในแต่ละหลัก ของจำนวนนับไม่เกิน 1,000

        2.1 หลักและค่าของเลขโดดในแต่ละหลักของจำนวนนับที่มีสามหลัก เลขโดดทางขวาสุด อยู่ในหลักหน่วย เลขโดดทางซ้ายของหลักหน่วย อยู่ในหลักสิบ เลขโดดทางซ้ายของหลักสิบ อยู่ในหลักร้อย

        2.2  1,000 เป็นจำนวนสี่หลัก หลักพันอยู่ในหลักถัดไปทางซ้ายของหลักร้อย มี 1 ในหลักพัน มีค่าเป็น 1,000 และมี 0 ในหลักร้อย หลักสิบ และหลักหน่วยมีค่าเป็น 0

         2.3 การเขียนแสดงจำนวนในรูปกระจายเป็นการเขียนในรูปการบวกค่าของเลขโดดในหลักต่างๆ ของจำนวนนั้น

3. การเปรียบเทียบและการเรียง ลำดับจำนวน

           3.1 การเปรียบเทียบจำนวนสองจำนวนที่มีจำนวนหลักไม่เท่ากัน จำนวนที่มีจำนวนหลักมากกว่าจะมากกว่าจำนวนที่มีจำนวนหลักน้อยกว่า

           3.2 การเปรียบเทียบจำนวน  สามหลักสองจำนวน

                    - จำนวนที่มีเลขโดดในหลักร้อยมีค่ามากกว่าจะมากกว่า

                    - ถ้าเลขโดดในหลักร้อยมีค่าเท่ากัน จำนวนที่เลขโดดในหลักสิบมากกว่าจะมากกว่า

                    - ถ้าเลขโดดในหลักร้อยมีค่าเท่ากัน และเลขโดดในหลักสิบมีค่าเท่ากัน จำนวนที่เลขโดดในหลักหน่วยมากกว่าจะมากกว่า

           3.3 การเรียงลำดับจำนวนการเรียงลำดับจำนวนสามหลัก 3 -5 จำนวน อาจทำได้โดยหาจำนวนที่มากที่สุดและจำนวนที่น้อยที่สุด จากนั้นนำจำนวนมาเรียงลำดับจำนวนจากมากไปน้อย หรือจากน้อยไปมาก

4. จำนวนคู่และจำนวนคี่

            - จำนวนที่มีหลักหน่วยเป็น 0  2  4  6  8  เป็นจำนวนคู่

            - จำนวนที่มีหลักหน่วยเป็น 1  3  5  7  9  เป็นจำนวนคี่

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ตัวชี้วัด

ค 1.1 ป.2/1 บอกจำนวนของสิ่งต่าง ๆ แสดงสิ่งต่าง ๆ  ตามจำนวนที่กำหนด อ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิก ตัวเลขไทย ตัวหนังสือแสดงจำนวนนับไม่เกิน 1,000 และ 0

จุดประสงค์

1. ด้านความรู้ ความเข้าใจ (K)                                                          

เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในบทนี้

2. ด้านทักษะกระบวนการ (P)                                                                            
               เพื่อให้นักเรียนสามารถสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์

3. ด้านคุณลักษณะ เจตคติ ค่านิยม (A)                                                                    

               เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง

การวัดผลและประเมินผล

1. การประเมินจากแบบฝึกหัด

2. การประเมินพฤติกรรมการทำงาน

3. การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์

ปีการศึกษา 2565 / 1
ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 2
กลุ่มสาระ คณิตศาสตร์
หน่วย หน่วยที่ 1 จำนวน
ชั่วโมง จำนวน
เรื่อง ร่วมคิดร่วมทำ “จำนวนที่ฉันสร้าง” 10 มิ.ย. 65 (มีแบบฝึกหัดและใบกิจกรรม)